ทลฉ.ฟุ้ง โครงการยกระดับขีดความสามารถขนส่งสินค้าทางน้ำ-ราง ใกล้แล้วเสร็จตามแผน – เผยการพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าทางน้ำ -ราง ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ใกล้แล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในปีหน้า เช่นเดียวกับแผนพัฒนาท่าเรือฯ ระยะ 3 ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดในโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
เมื่อเร็วๆ นี้ เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสำคัญของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าทางน้ำและทางราง ลดปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถยนต์และแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือฯ ว่า ใกล้จะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในปี 2561อาทิ โครงการท่าเรือชายฝั่ง ที่จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางน้ำที่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จริงจัง อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำต่างๆ ที่โครงสร้างยังไม่เอื้อต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำ โดยการขนส่งทางน้ำโดยใช้เรือชายฝั่ง ถือเป็นการดำเนินงานที่มีต้นทุนต่ำแต่ได้ปริมาณการขนสินค้าที่สูง เนื่องจากเรือชายฝั่ง 1 ลำ สามารถขนส่งตู้สินค้าได้ 80-120 ตู้ และจะทำให้รถบรรทุกสินค้าหายไปจากถนนประมาณ 80-120 คัน ซึ่งปัจจุบันโครงการท่าเรือชายฝั่ง ใกล้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ประมาณเดือน มี.ค.2561 ส่วนการสรรหาเอกชนเข้าช่วยในการเคลื่อนย้ายสินค้าน่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ค. 2561
เช่นเดียวกับโครงการ SRTO หรือ Single Rail Transfer Operator ที่จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางให้เพิ่มจาก 6-7 แสนตู้ต่อปี เป็น 2 ล้านตู้ต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2560 และจะเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าดำเนินการยกขนได้ในเดือน ก.ค.2561
ส่วนโครงการก่อสร้างถนนภายในท่าเรือฯ ที่ใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อขยายถนนจาก 4 เลน เป็น 6 เลน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาจุดตัดด้วยการสร้างสะพาน OVERPASS 2 แห่ง และสะพานยูเทิร์นเพื่อเข้าสู่ชุมชนแหลมฉบัง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งโครงการขยายประตูขนส่งสินค้าจาก 16 ช่อง เป็น 32 ช่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับรถขนส่งตู้สินค้านั้น ขณะนี้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และจะสามารถลดปัญหาด้านการจราจรที่แออัดในท่าเรือแหลมฉบังได้เป็นอย่างดี
เรือโท ยุทธนา ยังเผยถึงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ในวันนี้เป็นโครงการเชิงนโยบายและเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการก่อสร้างขยายสนามบินอู่ตะเภา และโครงการก่อสร้างท่าเรือท่องเที่ยวที่จุกเสม็ด ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อฉุดเศรษฐกิจของไทยให้มั่นคงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับท่าเรือทั่วโลก ว่าโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟให้ได้อีก 30% ของจำนวนปริมาณสินค้าทั้งหมดที่เข้ามาขนถ่ายยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยเน้นการออกแบบโครงการฯ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการลดปริมาณการขนส่งทางบก ซึ่งหากการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แล้วเสร็จ ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ล้านตู้ต่อปี
“ด้านการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังนั้น ที่ผ่านมาได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการทำ EHIA เพื่อควบคุมผลกระทบในเรื่องดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการชุมชนรอบท่าเรือฯเข้าร่วม เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะการก่อสร้างท่าเรือฯ ระยะที่ 3 ที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง นั้นยังให้ความสำคัญเรื่องการอยู่ร่วมกันกับคนในชุมชนโดยรอบท่าเรือฯเป็นสำคัญอีกด้วย” เรือโทยุทธนา กล่าว