วันนี้ (16 พ.ย. 2560) ที่ห้องประชุมพัฒนา คอนเวนชั่น พัฒนากอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต รีสอร์ท อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานเปิดการสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการ (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3) โครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอน ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ทั้งเศรษฐกิจ วิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี ร่วมรับฟังครั้งนี้นับพันคน
นายบุญเกื้อ จั่นบรรจง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์นโยบายกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นแผนตามกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่มีความสำคัญสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้น บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 รวมระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอ ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ได้แก่ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.หนองใหญ่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.เกาะจันทร์ ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ.แปลงยาว อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม และ จ.ปราจีนบุรี ได้แก่ อ.ศรีมหาโพธิ โดยแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งตอน 1 ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กิโลเมตร ตอน 2 ทางหลวงหมายเลข 3340 – ปราจีนบุรี (ทล.359) ระยะทางประมาณ 60.6 กิโลเมตร
นายบุญเกื้อ กล่าวต่อไปว่า สำหรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย รูปแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (ช่วง กม.66+750 กม.124.065) รูปแบบทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.9+250 ถึง กม.66+750) รูปแบบทางหลวงขนาด 8 ช่องจราจร (ช่วง กม.0+000 ถึง กม.9+250) และรูปแบบทางหลวงยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.17+900 ถึง กม.29+100) และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับ ประกอบด้วย ด่านศรีราชา ด่านบ่อวิน ด่านหนองใหญ่ ด่านบ่อทอง ด่านสนามชัยเขต และด่านศรีมหาโพธิ
นางสาวจิตรลดา ดำรงสุกิจ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม โครงการได้ศึกษาสภาพแวดล้อมในปัจจุบันของพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อนำไปวิเคราะห์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยได้กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมตลอดระยะก่อสร้าง เช่น การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวแบบเมทัลชีทในช่วงก่อสร้าง โดยการออกแบบและก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำ โดยไม่ก่อสร้างตอม่อลงในแหล่งน้ำ การจัดทำแนวป้องกันน้ำฝน รวมทั้งติดตั้งรั้วดักตะกอนเพื่อป้องกันการชะล้างตะกอนดินลงสู่แหล่งน้ำ กำหนดให้มีการฉีดพรมน้ำอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง กำหนดให้มีการขุดล้อมต้นไม้เพื่อย้ายไปปลูกบริเวณแขวงการทางชลบุรีที่ 2 กำหนดแผนการจัดจราจรช่วงก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบและก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบด้านการแบ่งแยกชุมชน เช่น ทางลอด ทางเชื่อมชุมชน และทางบริการ กำหนดให้มีการจัดประชุมผู้ถูกเวนคืน กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนตลอดการก่อสร้างโครงการ เป็นต้น ส่วนมาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบในช่วงดำเนินการ เช่น การติดตั้งกำแพงกันเสียงแบบอคริลิคใส และแผนปฏิบัติการกรณีสารเคมีรั่วไหลเมื่อเปิดดำเนินการ เป็นต้น
นายวสุ ชัยสุข วิศวกรโครงการ กล่าวว่า ด้านการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการพบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 13.4 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 11,902.74 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 1.2 ค่าลงทุนโครงการอยู่ที่ประมาณ 70,854.8 ล้านบาท (ประมาณราคา ณ ปี พ.ศ.2560) ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาเส้นทางนี้แล้วเสร็จ จะช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้าตามแนวเส้นทางมีความสะดวก รวดเร็ว ลดอุบัติเหตุ
นอกจากนั้น เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงทางแยกต่างระดับหนองขาม -ท่าเรือแหลมฉบัง และในแนวทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ช่วงทางแยกต่างระดับแหลมฉบัง-คลองบางละมุง ที่จะมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต ที่สำคัญยังเป็นเส้นทางที่รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อเชื่อมต่อการค้าการลงทุนและการเดินทางระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังการศึกษาครั้งนี้ กรมทางหลวงจะนำข้อคิดเห็นไปประกอบผลการศึกษาให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด
ด้านนายเรวัติ เขียวสนิท รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังไม่มีการระบุเส้นทางการก่อสร้างที่ชัดเจนว่า จะก่อสร้างอยู่ตรงจุดไหนอย่างไร ซึ่งความไม่ชัดเจนทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลหากถูกเวนคืนจะรองรับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
นอกจากนั้นในพื้นที่ยังมีเส้นทางต่างๆที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับโครงการ EEC ดังนั้นหากโครงการดังกล่าวยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา โดยควรรอโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เพื่อไม่ให้เกิดโครงการซ้ำซ้อนสร้างความสูญเสียต่องบประมาณในการลงทุน