วันนี้
(21 เมษายน 2560) นายภัครธรณ์
เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
เป็นประธานการประชุมแนวทางในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจ
ภาคตะวันออก (EEC) ณ ห้องประชุมพระพิพิธโภไคย
ศาลากลางจังหวัดชลบุรี
ตามที่รัฐบาลได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ
20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อพัฒนาเรื่องของการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ
มีศักยภาพ พร้อมขีดความสามารถในการแข่งขันตามความต้องการของประเทศ
สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี
โดยได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการค้า การลงทุน
และการอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ
โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทและศักยภาพในแต่ละพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10
เขตพื้นที่ของประเทศไทย โครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง
ยั่งยืน" รวมทั้งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern
Economic Corridor) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3
จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
และเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้อง
ซึ่งเป็นการยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดในทุกมิติ ให้เหมาะกับการอยู่อาศัย
การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การศึกษา และอื่น ๆ
อันจะนำไปสู่การเป้าหมายการเป็นเมืองน่าอยู่และน่าลงทุนที่สุดในอาเซียน
สร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ ลงทุนภาคอุตสาหกรรมแบบไร้มลภาวะ
ตลอดจนยกระดับพื้นที่สู่มาตรฐานนานาชาติ
นายภัครธรณ์
เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า
การจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาเพื่อรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
(EEC) ของจังหวัดชลบุรี มีสถานศึกษาจำนวน 33 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นสถานศึกษาของรัฐ จำนวน 8 แห่ง
สถานศึกษาของเอกชน จำนวน 24 แห่ง และสถานศึกษาสังกัดท้องถิ่น
จำนวน 1 แห่ง รองรับนักศึกษาประมาณ 48,000 คน มีแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดประกอบด้วย 4
ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยกระดับคุณภาพผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานสากล
2.เพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพให้เพียงพอในการจัดการศึกษาของสถานประกอบการ
3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการศึกษาของอาชีวศึกษาจังหวัดชลบุรี
และ4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้มีมาตรฐานและคุณภาตามหลักธรรมาภิบาล
ด้านตัวแทนภาคเอกชนได้เสนอให้สถานศึกษา
เน้นพัฒนากำลังคนรองรับ กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยให้มีการเน้นผลิตกำลังคนรองรับ
อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่จะใช้ระบบไฟฟ้า และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นพิเศษ