นายแผน
วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานมอบเสื้อกาวน์นิสิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 10 จำนวน 32 คน ณ ห้องประชุมลีลาวดี 1
อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยมีนายแพทย์สมเกียรติ บวรเสรีไผท รองผู้อำนวยโรงพยาบาลสมเด็จ
รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก นายวิสิษฏ์ พวงเพชร
รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางสุภาพร เทียนไชย
นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรีพร้อมคณะกรรมการกาชาดจังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี,ศาสตราจารย์กิตติคุณ
นายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จฯ, นายนิติ
วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา, นายธานี รัตนานนท์
นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา พร้อมแขกผู้มีเกียรติ และผู้ปกครองนิสิตแพทย์
เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี
ณ ศรีราชา
ได้รับมอบหมายให้เป็นสถาบันหลักในการผลิตแพทย์ชั้นคลินิกในโครงการร่วมผลิตแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี
ณ ศรีราชากับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในชั้นก่อนคลินิก
คือ ชั้นปีที่ 1-3 และรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในชั้นคลินิก ชั้นปีที่ 4-6
ซึ่งมุ่งเน้นปฏิบัติทักษะทางการแพทย์
โดยปัจจุบันมีนิสิตแพทย์สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตแพทย์ไปแล้ว 7 รุ่นๆ ละ 32 คน
สำหรับการจัดพิธีมอบเสื้อกาวน์ในครั้งนี้
เพื่อให้นิสิตแพทย์ตระหนักถึงความสำคัญของเสื้อกาวน์ขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามในวิชาชีพแพทย์
มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตนให้เป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในอนาคต
ให้นักศึกษาได้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถผ่านการเรียนไปสู่ระดับชั้นคลินิกซึ่งเสื้อกาวน์
มีความหมาย คือ มีหน้าที่ป้องกันสิ่งสกปรก เช่น เลือด น้ำหนอง เสมหะ เป็นต้น
นั่นคือความพร้อมที่จะรับภาระในการดูแลผู้ป่วย
กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อสวมเสื้อตัวนี้ สีขาว สีแห่งความสะอาด
นั่นคือการดำรงตนให้มีคุณธรรม จริยธรรม จิตใจที่ใส่สะอาด ไม่มีอคติ ลำเอียง ไม่แยกชั้นวรรณะ
เชื้อชาติศาสนา พร้อมดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม
โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา มีความพร้อมในการผลิตบัณฑิตแพทย์
และถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกที่ผลิตแพทย์ให้กับประเทศชาติ
ซึ่งได้ก้าวผ่านการเรียนในชั้นปีที่ 1 ถึง 3 และหลังจากนี้อีก 3 ปีข้างหน้า
นิสิตแพทย์จะพบกับการเรียนการสอนในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีผู้เจ็บป่วย ร่วมเป็นครู
ให้ความรู้ นอกเหนือไปจากคณาจารย์แพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำความรู้
ความสามารถ ไปใช้กับการทำงานในชีวิตจริงต่อไป