ผอ.รพ.พญาไทศรีราชา ขานรับ EEC พร้อมทุ่มเม็ดเงินกว่า 500 ล้านบาท ผุด รพ.พญาไทศรีราชา 2 รองรับกลุ่มผู้ใช้บริการในภาคอุตสาหกรรม ที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
วันนี้ (15 ก.พ.62) นายแพทย์ธนาคม แมนธนานนท์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา เป็นประธานการอบรม เรื่องการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ และการต่อนิ้ว โดยการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการต่ออวัยวะที่ขาด ให้กลับมาใช้งานได้เป็นปกติและสวยงาม โดยมีผู้สนใจเข้ารับการอบรมจำนวนมาก
นายแพทย์ธนาคม กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ให้ความใส่ใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเนื่องจากโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ จากการทำงานได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะพยายามวางมาตรการป้องกันไว้อย่างดีแล้วก็ตาม โรงพยาบาลในฐานะ ที่เป็นผู้ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่อง การลดความสูญเสีย ว่าจะทำอย่างไร ให้ Function ในการใช้งานของอวัยวะของมนุษย์หนึ่งคน ที่ประสบอุบัติเหตุ ได้กลับมาใช้งานได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งจากสถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการทำงานที่พบได้บ่อยๆ คือ การบาดเจ็บของศีรษะ และ การสูญเสียอวัยวะ ซึ่งส่วนใหญ่เคสที่มาคือ นิ้วมือขาด จากเครื่องจักร หรือของมีคมในกระบวนการผลิต จากสถิติ ในปี 2018 มีเคสที่ประสบอุบัติเหตุ เข้ารับการรักษา ทั้งหมดกว่า 28,000 ราย เป็นคนไข้ผ่าตัดสมอง 143 ราย จำนวนคนไข้ต่อนิ้ว 50 ราย
ทางโรงพยาบาลจึงได้ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถือเรื่องเป็นสำคัญ ปัจจุบันทางโรงพยาบาลฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญในการรองรับอุบัติเหตุได้เกือบครบทุกสาขา ทั้งแพทย์เวรศัลยกรรม สาขาต่างๆ อยู่ใน โรงพยาบาล 24 ชั่วโมง ทั้งเจ็ดวัน รวมถึงจุลศัลยกรรมการต่อนิ้วด้วย ซึ่งเรามีแพทย์ที่สามารถต่อนิ้ว ซ่อมแซมส่วนที่ขาด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไข้อุบัติเหตุอีกประการหนึ่ง คือ การดูแลก่อนนำส่งถึงมือแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่วิธีการดูแลก่อนนำส่ง และ ภายในระยะเวลาเท่าไร ถึงจะดีที่สุดสำหรับการต้องส่งคนไข้ถึงมือหมอ ทางโรงงานจึงได้จัดอบรมให้ความรู้ในเบื้องต้อนก่อนนำตัวผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล พร้อมมีการจัดนิทรรศการเคสตัวอย่างแสดงอีกด้วย
นายแพทย์ธนาคม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยในภาคอุตสาหกรรม และประชาชนโดยทั่วไปมาใช้บริการจำนวนมาก เราจึงโครงการเพิ่มจำนวนเตียง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ โดยทำการก่อสร้างโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 2 ขึ้น บนพื้นที่ กว่า 1 ไร่ ห่างจากแห่งแรกประมาณ 100 เมตร โดยใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง โดยจะเน้นไปที่ผู้ใช้บัตรประกันสังคม 150,000 คน จากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันไม่เพียงพอจะรองรับผู้ป่วยแล้ว และในอนาคตจะมีโครงการ อีอีซีของรัฐบาลเกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย
“โดยใน 3- 5 ปีข้างหน้า โครงการอีอีซี เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ทำให้แรงงานไหลเข้ามาสู่พื้นที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นจังหวัดชลบุรียังเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากด้วย และที่สำคัญการเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ จึงต้องมีแผนในการรองรับ โดยจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้านไว้รองรับ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดดำเนินการได้ในปีประมาณ ปี 2564 นี้”