สวัสดีครับ...พบกับ www.ศรีราชาโพสต์.com โฉมใหม่!! "สร้างสรรค์ ดูแลกัน ทันเหตุการณ์" ***สวัสดีครับ...พบกับ www.ศรีราชาโพสต์.com โฉมใหม่!! "สร้างสรรคฺ์ ดูแลกัน ทันเหตุการณ์" ***ประชาสัมพันธ์ข่าวสารส่งมาได้ที่ kk.udomsuk@gmail.com

เตรียมดำเนินคดีต้นตอกัมมันตรังสีในตู้คอนเทนเนอร์ขาออก เตรียมส่งออกไปอินเดีย


สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังร่วมกับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เก็บกู้วัสดุกัมมันตรังสีไว้ในที่ปลอดภัยแล้วหลังพบที่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมเตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โทษเบื้องต้นจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ 

วันนี้ (13 พ.ย.61) ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) โดยนายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังด้วยตัวแทนจาก ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจจับวัสดุกัมมันตรังสีผิดกฎหมาย ซึ่งศุลกากรได้ตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าเพื่อส่งออกประเทศปลายทางอินเดีย ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ปส.โดยละเอียดพบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม - 137 (Cs-137)น้ำหนักประมาณ 200 กรัม และ เจ้าหน้าที่ สทน. ได้ทำการเก็บกู้ซีเซียม-137 ซึ่งกำกับดูแลความปลอดภัยโดย ปส.เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ตามที่กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปราบปรามการหลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม ได้เข้มงวดในการสกัดกั้นและปราบปรามการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมายเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประเทศไทยและประชาคมโลก ตามโครงการ Megaports Initiative (MI) ภายใต้การดำเนินการของศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการตรวจจับและสกัดกั้นการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมาย 
โดยศุลกากรได้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าหมายเลข INLU2105838 ตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ A018-1610906119 สำแดงสินค้าประเภทเศษอลูมิเนียม น้ำหนัก 26,340 KGM ประเทศปลายทางอินเดีย โดยตู้สินค้าดังกล่าวผ่านการตรวจสอบโดยอุปกรณ์ Radiation Portal Monitor (RPM) พบการแผ่รังสีเกินกว่าค่ามาตรฐานจึงไม่สามารถรับบัตรผ่านเข้าทำเนียบท่าเรือเพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเข้าวางเพื่อรอส่งออกได้ จึงต้องนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าวมาตรวจสอบยังสถานีตรวจสอบขั้นที่ 2 (Secondary Inspection Station) 
การตรวจสอบสารกัมมันตรังสีโดยอุปกรณ์ Spectroscopic Portal Monitor (SPM) ณ สถานีตรวจสอบขั้นที่ 2 พบการแผ่รังสีของ ซีเซียม- 137 (Cs-137) และได้ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดกัมมันตรังสีแบบมือถือ เพื่อยืนยันผลการตรวจสอบในตู้สินค้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยได้ทำการประสานงานกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และปฏิบัติตามคำแนะนำโดยนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าว ไปอายัดไว้บริเวณ Safety Zone จากนั้นได้ดำเนินการแจ้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทราบถึงการตรวจพบ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง, สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล กรมเจ้าท่า ผู้ส่งออก และท่าเรือ B4 
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และผู้ส่งออก ได้มีการประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางในการดำเนินการตรวจสอบทางกายภาพและคัดแยกวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าว ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ  ได้นำเสนอแผนการดำเนินการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อคัดแยกวัสดุปนเปื้อนให้กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  และ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงแผนการดำเนินการกับตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าว 

โดยในวันตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ทำการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในการตรวจสอบเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการ  ตามกฎหมายต่อไป โดยการตรวจสอบได้มีหน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง และตัวแทนผู้ส่งออก และจากการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ตรวจพบ วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม – 137 (Cs-137) น้ำหนักประมาณ 200 กรัม โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ส่งมอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์หลังทีมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เก็บรักษาเพื่อความปลอดภัยและรอการดำเนินการขั้นต่อไป 

ด้านนายพิสิฏฐ์ สุนทราภัย ตัวแทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่าหลังจาก เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์หลังทีมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ให้ความร่วมมือกับกรมศุลกากร  พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังเก็บกู้ ซีเซียม-137 (Cs-137) ในตู้สินค้าขาออก พร้อมยืนยันได้นำออกจากพื้นที่แล้วอย่างปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และนำไปเก็บไว้ ณ สถานที่ปลอดภัยของ สทน.ขอให้ประชาชนมั่นใจไม่มีอันตรายตกค้างหรือให้กระจายในพื้นที่อย่างแน่นอน 

คุณสมบัติทางรังสีของซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปรังสี นิยมนำไปใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลว และใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง ซึ่งวัสดุกัมมันตรังสีที่พบคาดว่าจะเป็นส่วนประกอบของเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม

สำหรับอันตรายของวัสดุกัมมันตรังสีที่ตรวจพบนั้น เนื่องจากมีสภาพเป็นของแข็งจึงไม่มีการเปรอะเปื้อนหรือฟุ้งกระจาย จึงมีเพียงความเป็นอัตรายจากการแผ่รังสีออกมา ซึ่งเมื่อดำเนินการเก็บกู้ออกไปก็จะไม่มีการแผ่รังสีและรังสีตกค้างในพื้นที่ โดยทางเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและตรวจสอบเพื่อยืนยันทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินการ พบว่าไม่มีการเปรอะเปื้อนหรือฟุ้งกระจายแต่อย่างใด 

การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสี ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ. ศ. 2559 อย่างเช่นกรณีดังกล่าวนี้ มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการจัดการกากกัมมันตรังสี ซึ่งตามมาตรา 79 ผู้ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีมีหน้าที่ในการจัดการกากกัมมันตรังสีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีต้องส่งให้หน่วยงานของรัฐจัดการ ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการจัดการกับซีเซียม-137 ดังกล่าวแล้วอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล 

สํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติตนของประชาชน เมื่อพบวัตถุต้องสงสัย รวมถึงวิธีการสังเกตและตรวจสอบลักษณะของสิ่งที่คาดว่าจะมีวัสดุกัมมันตรังสีอยู่ภายในเบื้องต้น คือ จดจำลักษณะรายละเอียดเบื้องต้นและห้ามแตะต้องวัสดุนั้นเป็นอันขาด สังเกตลักษณะภายนอกว่ามีสัญลักษณ์ทางรังสี ประกอบด้วย ใบพัดสามแฉก สีม่วงแดงหรือสีดำบนพื้นสีเหลือง หรือมีตัวหนังสือที่อาจประกอบด้วย อักษรตามด้วยตัวเลขปรากฏอยู่ อาทิเช่น Co-60, Cs-137, Ir-192 หรือมีตัวอักษร Bq หรือ Ci ติดอยู่ ให้รีบดำเนินการแจ้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วน 1296 หรือโทรศัพท์ 089-2006243, 02-5967699  ทันที่  

โดยหลังจากนี้เป็นขั้นตอนทางกฎหมาย โดยเจ้าที่จะะต้องทำการสืบค้นให้ได้ว่า สารกัมมันตรังสีชิ้นดังกล่าวเป็นของใครและมาจากที่ไหน โดยฐานความผิดในเบื้องต้น คือ จำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาทหรือ ทั้งปรับและจำ












paitoon Banner2 ท่าเรือLCB ไทยออยล์ ปตท. แปซิฟิค