เอไอเอส มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยภายใต้แนวคิด “Digital For Thais” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างประโยชน์และคุณค่าแก่สังคม พร้อมยกระดับเกษตรกรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล
บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการจัดกิจกรรม AIS Digital For Thais มุ่งนำดิจิทัลสร้างประโยชน์เพื่อคนไทยทั่วทุกภูมิภาค หนุนประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จังหวัดชลบุรี โดยมี นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด AIS “Digital For Thais” และ นายประวิตร จิตรปัญญา หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการภูมิภาค –ภาคตะวันออก, นายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ หัวหน้างานดิจิทัลฟอร์ไทย, ฝ่ายบริหาร และสื่อมวลชนเข้าร่วม
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและความเท่าเทียมกันของเทคโนโลยีสู่ประชาชน ในโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 ด้านที่สำคัญของประเทศ ทั้งการศึกษา, เกษตร, สาธารณสุข และธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
โดยด้านการศึกษา เอไอเอส ได้เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทยได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งวิชาการและสาระบันเทิง ด้วยการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและมอบกล่องสานรัก สานความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กๆ ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งกล่องสานรักฯ ให้กับโรงเรียนต้นแบบไปแล้ว จำนวน 34 แห่ง
ด้านการเกษตร เอไอเอส ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการทำงานของเกษตรกรให้ก้าวไปสู่เกษตรกร 4.0 ด้วยแนวคิด “สอน เสริม สร้าง” ผ่านแพลตฟอร์มฟาร์มสุข เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น รวมทั้งยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มร้านฟาร์มสุข เพื่อเป็นช่องทางตลาดออนไลน์ให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่หลากหลายจากทั่วทุกภูมิภาค
ด้านสุขภาพ เอไอเอส ได้ส่งเสริมการทำงาน ด้านสาธารณสุข ผ่าน “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารในการปฎิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกของหน่วยบริการสุขภาพ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ สามารถใช้งานได้กับทุกเครือข่าย ปัจจุบันหน่วยบริการสุขภาพและรพ.สต.เปิดใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ จำนวน 2,200 แห่งทั่วประเทศ และมีผู้ใช้งานถึง 48,000 คน
ส่วนธุรกิจสตาร์ทอัพ เอไอเอส ได้ร่วมพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการในระดับชุมชน โดยนำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการต่างๆ ในการไปต่อยอดธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายประวิตร จิตรปัญญา หัวหน้าส่วนงานปฎิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออก เอไอเอส กล่าวว่าในพื้นที่ภาคตะวันออก เอไอเอส ได้ขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้ง 4 ด้านให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในทุกๆ ด้านเช่นกัน โดยในส่วนของภาคตะวันออก เอไอเอส ได้เตรียมความพร้อมด้านเครือข่าย รวมถึงไอทีแพลตฟอร์มและโซลูชั่นส์ต่างๆ เช่น ระบบเก็บเงิน, ระบบการทำตลาดออนไลน์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในพื้นที่ พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจากเอไอเอสที่คอยให้คำแนะนำ และสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอีกด้วย
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ หัวหน้าส่วนงานดิจิทัลฟอร์ไทย เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ได้พัฒนาแพลตฟอร์มฟาร์มสุข เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอปพลิเคชัน “ฟาร์มสุข” ซึ่งจะเป็นคลังความรู้และภูมิปัญญาต่างๆให้เกษตรกรไทยเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร ทั้งในรูปแบบของวิดีโอ บทความ และเทคโนโลยีต่างๆ อาทิเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในแปลงเพาะปลูกจากอุปกรณ์ NB-IOT ข้อมูลราคาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้สร้างช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “ร้านฟาร์มสุข” ให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ง่ายขึ้น