โครงการวิจัย “การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง” เปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย เพื่อรองกรนับการเติบโต ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC เผยทุกฝ่ายยอมรับ ระบบรถรางไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนกว่าสองหมื่นล้านบาท
วันนี้ (20 เม.ย.61) นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิด การรับฟังความคิดเห็น ครั้งสุดท้ายโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง” โดยมีคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เทศบาลแหลมฉบัง ผู้แทนสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ หอการค้า ผู้แทนจากภาครัฐ และเอกชน ประธานชุมชน กรรมการชุมชน และประชาชนโดยทั่วไป เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน
นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา กล่าวว่า การประชุมร่วมรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้ายของโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง” ในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การวางโครงข่ายเส้นทางและกำหนดตำแหน่งของสถานีขนส่งมวลชนในเขตเมืองศรีราชา และแหลมฉบัง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในถนนสายหลักในเขตในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า และเร่งด่วนเย็น
นอกจากนี้แล้วเพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรอง หรือที่เรียกว่า Feeder Systems ในการเชื่อมกับระบบรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพฯ – พัทยา - ระยอง ซึ่งจะเป็นการ่วมลงทุนกันระหว่างรัฐบาลและเอกชนที่กำลังอยู่ในระหว่างการประมูลในรูปแบบของ PPP ซึ่งภาคเอกชนต้องไปจับกับเจ้าของเทคโนโลยีเพื่อเข้าร่วมประมูล ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2561 นี้
สำหรับในส่วนของถนนสายรองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังนั้น ทางโครงการก็ได้มีการวางแผนโครงข่ายเส้นทาง และตำแหน่งของสถานีขนส่งมวลชนให้ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้ายนี้นั้นถือว่าเป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการนี้ ที่มีความสำคัญมากอย่างยิ่ง เพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เมืองศรีราชา และแหลมฉบัง ได้เข้ามามีส่วนร่วม และได้แสดงข้อคิดเห็นอย่างเต็มที่ ถึงผลการศึกษาที่คณะผู้วิจัยได้จัดการยกร่างขึ้น เพื่อให้ผลการศึกษานั้นจะถูกนำไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์ การต่อประชาชนในเขตเมืองศรีราชา และแหลมฉบัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีเป็นเมืองทีมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางอุตสาหกรรม การค้าขายในภาคตะวันออก ทีมีท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือหลักในการ นำเข้าและส่งออกสินค้า ทำให้สภาพการจราจรติดขัดภายในพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง เนื่องจากขาดระบบการขนส่งสาธารณะ ทีมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่เทศบาลนครแหลมทฉบัง รวมทั้งมีปัญหาในด้ายของความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการ และเส้นทางที่ไม่ครอบคลุม การพัฒนาเมืองโดยเน้นระบบสาธารณะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องศึกษาทิศทางการเติบโตของเมืองในอนาคตควบคู่กันไป
ดังนั้นจึงได้มีการวิจัยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังขึ้น โดยที่ได้ผ่านมาได้ทำการศึกษา ในทุกๆมิติ แล้วสรุปมาเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ระบบรถรางไฟฟ้า ใช้เงินลงทุน ประมาณ 27,255 ล้านาท มีอายุการใช้ประมาณ 30 - 60 ปี 2.ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง มีมูลค่าการลงทุน 3,684 ล้านบาท มีอายุการใช้งาน 5-10 ปี และ 3.ระบบรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า งบประมาณการลงทุนประมาณ 1,950 ล้านบาท มีอายุการใช้งาน 5 -10 ปี โดยมีทั้งหมด 14 สถานี
ด้านนายสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เผยว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ในรูปแบบของระบบรถรางไฟฟ้า (Monorail) ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูงกว่ารูปแบบอื่นๆ แต่จะคุ้มค่ามากกว่าเมื่อสามารถจะใช้งานไปได้นานถึง 30 - 60 ปี ซึ่งจะลดปริมาณการใช้รถส่วนตัว ลดการจราจรที่ติดขัด สะดวกในการสัญจร และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในอนาคตอำเภอศรีราชาจะเป็นเมืองที่เจริญ เป็นเมืองชุมชนที่จะมีผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ระบบขนส่งมวลชนจึงมีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ในชุมชน ซึ่งจะมาผสานโครงสร้างระบบหลัก เช่นรถไฟฟ้าความเร็วสูง เข้ามายังตัวเมือง และเชื่อมต่อไปยังอำเภอใกล้เคียง ซึ่งจะต้องเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งโครงการนี้จะมีความเป็นไปได้ต้องให้ส่วนกลางเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพราะเกินศักยภาพงบประมาณจากส่วนท้องถิ่น ก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นในต่างจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครอีกสักแห่งหนึ่ง
ทางด้านตัวแทนผู้ประกอบการ นายเลอเลิศ อมรสังข์ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์ โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เผยว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง ในระบบรถรางไฟฟ้า เนื่องจากในปัจจุบันการจราจรพื้นที่อำเภอศรีราชามีปัญหาอย่างมากและเห็นควรว่าจะมีการดำเนินการให้เร็วที่สุดเนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ อำเภอศรีราชา ซึ่งถูกเลือกให้เป็นพื้นที่การพัฒนา EEC ดังนั้นการพัฒนาในทุกด้านจะเกิดขึ้นในพื้นที่ อำเภอศรีราชา ดังนั้น อนาคตการจราจรในพื้นที่ จะหนาแน่นขึ้น หากไม่รีบดำเนินการ การจราจรในเมืองและระหว่างเมือง มีปัญหาแน่นอน