กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ชี้ผลกระทบที่เกิดจากการปิดจุดเข้า-ออกถนนมอเตอร์เวย์ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนชีวิตและวิถีชุมชนของชาวบ้านใน อ.ศรีราชา แล้ว ในอนาคตยังหวั่นว่านักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อาจย้ายฐานลงทุนหรือยกเลิกการลงทุน จากปัญหาต้นทุนดำเนินงานและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหาทางออก ด้าน ผวจ.ชลบุรี ชี้ปัญหาดังกล่าวจังหวัดไม่นิ่งนอนใจ และได้นำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว
วันนี้ (30 มี.ค.61) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายวิชัย กุลสมภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการปิดช่องทางบนถนนมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 (พัทยา-ชลบุรี) ว่าไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในภาพรวมในหลายด้าน โดยเฉพาะวิถีชีวิตชุมชนดั่งเดิมที่เคยเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวกสบาย แต่เมื่อมีการปิดกันจุดขึ้น-ลงถนนมอเตอร์ เวย์ โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ อ.ศรีราชา ซึ่งถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ก็เริ่มทำให้ประชาชนที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่และคนท้องถิ่นเดิม เริ่มได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทาง
ขณะที่นักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม จนสามารถสร้างรายเข้าประเทศชาติอย่างมหาศาล โดยเฉพาะที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา ที่ปัจจุบันมีโรงงานมากกว่า 80 โรงงาน จากที่เคยมั่นใจในพื้นที่ รวมทั้งเส้นทางการเดินทางที่สะดวกสบาย ก็เริ่มไม่สบายใจกับผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนการขนส่งจากการใช้เส้นทางที่อ้อมมากขึ้นไปด้วย
“ขณะนี้แต่ละโรงงานจะมีรถเข้า-ออก วันละประมาณ 40-50 คัน และมีพนักงานที่ต้องเดินทางเข้าทำงานในเครือสหพัฒน์ฯ กว่า 1,000 คนต่อโรงงาน ก็กำลังได้รับผลกระทบจากการปิดเส้นทาง – เข้าออกดังกล่าวไม่แพ้กัน”
นายวิชัย ยังกล่าวว่าในวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องระดมความคิดเห็นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ผลกระทบที่เกิดจากการปิดจุดเข้า-ออกถนนมอเตอร์เวย์ โดยเฉพาะในช่วง อ.ศรีราชา เพราะหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นจริงก็หวั่นผู้ประกอบการโดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างชาติ จะถอนการลงทุนไปยังประเทศอื่น
“ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคตะวันออก เช่นโครงการ EEC แต่ขณะนี้กำลับต้องประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่ง อีกหน่อยก็จะไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุนเพิ่ม ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบควรหาทางแก้ไข โดยเฉพาะการพิจารณาเพิ่มจุดเข้า-ออกมอเตอร์เวย์ เพราะถนนบริเวณดังกล่าว มีจุดเข้า-ออกหลายจุดที่สามารถเชื่อมหากันได้อย่างสะดวกและคล่องตัว แต่เมื่อมีการตัดถนนมอเตอร์เวย์ ก็ทำให้การเดินทางของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งถูกปิดกั้น ชาวบ้านเดินทางยากลำบาก การพบปะระหว่างญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง เลือนหายไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนชีวิตของประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ"
นายวิชัย ยังเผยอีกว่าจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนและพักอาศัยใน อ.ศรีราชา ทำให้ได้รับทราบถึงผลกระทบด้านจิตใจของชาวต่างชาติกลุ่มนี้ หลังมีการปิดถนนมอเตอร์เวย์ ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้นทุนการประกอบการที่นักลงทุนต่างชาติเคยใช้ มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นถึง 20-30% แล้ว บริษัทแม่บางแห่งยังมีการยกเลิกสัญญาว่าจ้างและเรียกตัวพนักงานของตนกลับประเทศ สิ่งที่ตามก็คือการกลับไปบอกกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่อาจสร้างปัญหาและผลกระทบต่อไปในอนาคต
“ชาวบ้านและผู้ประกอบการเองก็เข้าใจและไม่ต้องการให้รัฐบาลลงทุนหรือ ใช้งบประมาณที่สูงขึ้นหากต้องทำจุดเข้า-ออกถนนมอเตอร์เวย์ให้ เพราะทราบถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี แต่เท่าที่ทราบก็คือ หน่วยงานที่บริหารโครงการมอเตอร์เวย์ มีแผนที่จะสร้างร้านสะดวกซื้อ, ห้องน้ำ บริเวณจุดพักรถบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 90 เพื่อรองรับผู้ใช้บริเวณถนนมอเตอร์เวย์ อยู่แล้ว ซึ่งบริเวณนี้มีพื้นที่บริเวณกว้างก็ควรเจาะช่องทางเข้า-ออกให้กับชาวบ้านได้ใช้ด้วย ซึ่งหากจะเก็บเงินค่าบริการก็เชื่อว่าทั้งชาวบ้านและผู้ประกอบการยินดีที่จะจ่าย เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องเสียเวลา และเสียพลังงานเชื้อเพลิงในการเดินทาง” นายวิชัย กล่าว
ขณะที่ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังมีการปิดทางเข้า-ออกถนนมอเตอร์เวย์ว่า จังหวัดชลบุรี ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการรวบรวมปัญหาต่างๆที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเสนอต่อกระทรวงคมนาคมไปแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม