การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับกรมศุลกากรดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการ หวังช่วยลดขั้นตอนและเวลาการทำงานลง พร้อมทั้งลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ กรมศุลกากรดำเนินการพัฒนาระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window : NSW) ณ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้ยกเลิกขั้นตอนการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร และยกเลิกการยื่นเอกสารใบกำกับการขนย้ายสินค้าให้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยระบบดังกล่าว จะทำให้ ลดระยะเวลาในกระบวนการรับมอบตู้สินค้าจาก 3 นาทีต่อตู้ เหลือเพียง 20 วินาทีต่อตู้ ลดระยะเวลาที่ผู้ส่งออกต้องมาติดต่อและรอคอยจากเดิมต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ลดลงเหลือ 1.30 ชั่วโมง ลดค่าใช้จ่ายด้านเอกสารและด้านอื่นๆ เช่น ค่าเสียเวลา ค่าน้ำมันรถและค่าจ้างแรงงาน จากสถิติการส่งออกที่ผ่านมาคาดว่า สามารถลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ให้กับประเทศไทยได้ถึงปีละ 2,500 ล้านบาท และยังสามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรของรัฐ จำนวน 71 อัตรา รวมถึง ค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานและค่าซ่อมบำรุงรักษา เครื่องคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการส่งออกสินค้าโดยเรือชายฝั่งระหว่างท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง และเพิ่มศักยภาพ อำนวยความสะดวกทางการศุลกากรในระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศ พร้อมทั้งผลักดันให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนน มาเป็นการขนส่งทางน้ำเพื่อลดปัญหาการจราจร ปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนน ลดมลภาวะในอากาศ และลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ของประเทศ การตรวจปล่อยสถานะของตู้สินค้าจากต้นทางที่ทางท่าเรือกรุงเทพ (สถานะ 0309 คืออนุญาตให้ตู้สินค้าสามารถบรรทุกลงเรือได้) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ของประเทศได้อย่างมหาศาล
โดยในปีงบประมาณ 2561 คาดการณ์ว่า ท่าเรือกรุงเทพจะสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ 80,000 TEUs เพิ่มขึ้น 25 % อันเป็นผลมาจากโครงการบรรจุตู้สินค้าในเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพเพื่อบรรทุกทางเรือชายฝั่งไปขึ้นเรือตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์จาก 686.4
ดร.ฐิติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2561 จะปะกอบไปด้วย 1.โครงการ "ระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-Arrival Processing System)" โครงการ "ระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-Arrival Processing System)" นำร่อง ณ ท่า เทียบเรือ A3 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นการปล่อยสินค้าจากข้อมูลบัญชีสินค้า (e-Manifest) ที่ส่งเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนที่สินค้าจะมาถึงราชอาณาจักร เมื่อเหลือมาถึงราชอาณาจักร หากเป็นสินค้าที่ไม่ติดเงื่อนไขความเสี่ยงผู้ประกอบการสามารถจัดทำใบขนสินค้า ติดต่อแลก D/O และรับของหรือลากตู้ออกจากท่าเรือได้ทันทีฯ ลดขั้นตอนเอกสาร และลดระยะเวลาในการตรวจปล่อย รวมถึงลดระยะเวลาฝากเก็บสินค้าทำให้ระยะเวลาที่ตู้สินค้าอยู่ในเขตการท่าเรือลดลง สินค้าไปถึงผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือสถานที่จัดจำหน่ายได้รวดเร็วขึ้น 2.โครงการการปฏิบัติพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดน/ถ่ายลำโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใบขนสินค้าถ่ายลำ/ผ่านแดน, ใบเคลื่อนย้ายสินค้าถ่ายลำ/ผ่านแดน, ใบขนขาเข้าพิเศษสำหรับตู้สินค้า, ใบคำร้องขอลากตู้สินค้าภายใต้การควบคุมของกรมศุลกากร e-Transit และ e-Transshipment โดยทางกรมศุลกากรได้ออกประกาศฉบับที่ 139/2560 และ 140/2560 เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิดลดขั้นตอนเอกสาร และลดระยะเวลาในการตรวจสอบเพิ่มศักยภาพให้กับกระบวนนำเข้า ส่งออก และนําผ่านสินค้าให้กับประเทศ เพื่อผลักดันและยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งทางน้ำในระดับอาเซียน 3.โครงการรายงานบัญชีสินค้าขาออกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Manifest Export เป็นการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยมีจุดมุ่งหมายในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและเพื่อส่งเสริมความ สามารถในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก ลดระยะเวลาในการตรวจสอบและสามารถคืนภาษีให้กับผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออก ลดขั้นตอนการติดต่อเจ้าหน้าที่และกำลังคนในการปฏิบัติงานได้ ซึ่งทั้ง3 โครงการดังกล่าว คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้วันที่ 1 มกราคม 2561