วันนี้ (13 พ.ย.60) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาพร้อมคณะ บรรยายพิเศษเรื่อง ศาสตร์พระราชาจะดำรงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และโครงการการใช้ภาษาต่างประเทศ ภาษาทางการทูต ให้กับคณะครู อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา จ.ชลบุรี กว่า 500 คน โดยมี บาทหลวงยอด เสนารักษ์ ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนดาราสมุทร และคณะครู อาจารย์ ให้การต้อนรับ
ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ผู้ที่เป็นข้าราชการจะต้องยึดถือระเบียบวินัยในการทำงาน มีความซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาจังหวัดให้เจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน สร้างความสามัคคี ความรัก เชื่อมโยงการทำงานของแต่ละหน่วยงานจนสร้างความรู้รักสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน และน้อมนำศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปใช้ในการประพฤติปฏิบัติตนและการทำงาน
โดยอาชีพรับราชการเป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบอันมีเกียรติของผู้เป็นข้าราชการที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ความเป็นธรรมในสังคม โดยใช้คำพูดโดยรวมว่า สังคมธรรมาภิบาล หรือสังคมคุณธรรม ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น เพราะจะทำให้เกิดผลเสียของบ้านเมืองสังคมโดยรวม
จากการเดินทางตรวจราชการ สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ พบว่า นักเรียน นักศึกษา ต่างมีความอาลัยคิดถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กันอย่างที่สุด ต่างพร้อมใจกันสืบสานพระราชปณิธานโรงเรียนคุณธรรม ว่าด้วยความเป็นสุภาพชน ปรัชญาความพอเพียง ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความรับผิดชอบ ยึดมั่นอุดมการณ์คุณธรรมสู่การปฏิบัติ เพื่อความสำเร็จในชีวิตและความรุ่งเรืองของประเทศชาติ
ม.ล.ปนัดดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น เพื่อเป็นการติดตามการประเมินผลโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ว่าโรงเรียนในแต่ละจังหวัด รวมทั้งสิ้น 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร นั้น เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไรบ้าง เบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการได้รับรายงานแล้ว และสิ่งที่ได้รับรายงาน คือความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างครูอาจารย์และเด็กนักเรียน ที่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ขณะนี้อยู่ในช่วงประเมินผล โดยอะไรที่ควรดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ก็จะใช้ศึกษาธิการจังหวัด ประสานงานร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อมองภาพกว้างว่าสิ่งไหนควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขหรือสิ่งไหนที่ควรจะดำเนินการ เพื่อได้ผลลัพธ์ที่ได้มีคุณภาพต่อไป