สวัสดีครับ...พบกับ www.ศรีราชาโพสต์.com โฉมใหม่!! "สร้างสรรค์ ดูแลกัน ทันเหตุการณ์" ***สวัสดีครับ...พบกับ www.ศรีราชาโพสต์.com โฉมใหม่!! "สร้างสรรคฺ์ ดูแลกัน ทันเหตุการณ์" ***ประชาสัมพันธ์ข่าวสารส่งมาได้ที่ kk.udomsuk@gmail.com

ตัวแทนกลุ่มประมงแหลมฉบัง ยันหาก ทลฉ.ดูแลปากท้องชาวบ้านได้ ก็พร้อมหนุนโครงการท่าเรือฯ ขั้น 3


ทลฉ.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้น 3 พร้อมชี้แจงถึงความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าของไทย รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และโครงการ อีอีซี ที่จะทำให้มีการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดย ผอ.ทลฉ.ย้ำท่าเรือฯ ได้กำหนดทั้งมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ปชช.และกลุ่มประมงที่จะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับการป้องกันผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่ภาคธุรกิจเมืองพัทยา มีความกังวล ขณะที่ตัวแทนกลุ่มประมงแหลมฉบัง ยันหาก ทลฉ.ดูแลปัญหาปากท้องชาวบ้านได้ ก็พร้อมให้การสนับสนุน 

วันนี้ ( 8 พฤษภาคม 60 ) ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ได้จัดให้มีการประชุมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (ค.2) ในโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ณ ศูนย์สวัสดิ์การท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร พร้อมคณะผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมรับฟังความคิดเห็น และมีกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอบางละมุง และตำบลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา รวมทั้งประธานชุมชนต่างๆ ที่อยู่โดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 

ร.ต.ต.มนตรี เผยว่าการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้น เป็นครั้งที่ 2 รวมระยะเวลา 2 วัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในรุปแบบการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ทั้งจากภาคประชาชน หน่วยงานราชการ และส่วนเกี่ยวข้องมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ตรงตามความต้องการของทุกฝ่าย ขณะที่ผลกระทบจากภาคประมงที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้เสียหลัก ของโครงการฯเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทำมาหากินอยู่ในน้ำ ซึ่งแม้โครงการดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตามราชกิจจานุเบกษา แต่การท่าเรือฯ ก็คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และต้องเร่งหาทางแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มประมง 

“ หากการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงในพื้นที่ หรือ ทำให้ชาวประมงได้รับความไม่สะดวกในการทำมาหากิน ท่าเรือแหลมฉบัง ก็พร้อมที่จะหามาตรการเยียวยา และแก้ไข เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ต่ำกว่าเดิม หรือดีกว่าเดิม ซึ่งเราก็มีการตรวจติดตามในหลายเรื่อง และยังมีการวางแผนร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนความกังวลของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองพัทยา ที่เกรงว่าการเกิดขึ้นของท่าเรือฯ ขั้น 3 จะทำให้สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวกระทบนั้น ขอยืนยันว่าผมเองก็เป็นคนชลบุรีและเกิดที่นี่ อีกทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ก็เป็นส่วนราชการที่เห็นความเจริญเติบโตของจังหวัดชลบุรีและประเทศชาติมาโดยตลอด ย่อมไม่ปล่อยให้ การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ และที่ผ่านมาก็ได้มีการศึกษาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเคลื่อนตัวทางชายฝั่ง เรื่องของสมุทรศาสตร์ หรือแม้แต่การทำมาหากินของภาคประชาชน และการท่องเที่ยว ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังเองก็มี ท่าเรือโดยสารที่นำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวยังเมืองพัทยา ซึ่งหากมีผลกระทบก็ย่อมกระทบกับท่าเรือฯด้วย จึงขอให้ท่านที่เป็นกังวลสบายใจได้ว่าเราได้คิดเผื่อผลกระทบในด้านนี้ไว้หมดแล้ว”

ร.ต.ต.มนตรี ยังเผยถึงความคาดหวังที่จะได้จากการประชุมในครั้งนี้ หลังที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้แนวโน้มความเข้าใจต่อโครงการดังกล่าวของประชาชนก็ดีขึ้นเป็นลำดับว่า  จะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้น และสร้างความสบายใจให้กับประชาชนในเรื่องของปากท้อง และชีวิตความเป็นอยู่ที่จะ สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ และท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต ภายใต้ความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องสร้างประตูการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อให้ทันกับการเติบโตทางภาคเศรษฐกิจ และการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะทำให้การนำเข้าและส่งออกสินค้ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น 

“ ในแต่ละปีท่าเรือแหลมฉบัง มีตู้สินค้าผ่านท่าจากการนำเข้าและส่งออกจำนวนมาก และในปีนี้ยังคาดว่าจะมีตู้สินค้ามากถึง 7.5 ล้านทีอียู ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับขีดความสามารถสูงสุดในการขนถ่ายสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งโครงการท่าเทียบเรือระยะที่ 1 และ 2 ที่เมื่อรวมกันแล้วจะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าสูงสุดที่  10.8 ล้านทีอียู ก็เท่ากับว่าจำนวนตู้สินค้าในปัจจุบันใกล้จะเต็มมีขีดความสามารถแล้ว ท่าเรือแหลมฉบังเองก็เฝ้าระวังเรื่องการนำเข้าและส่งออกของผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลา หลังพบว่าตู้สินค้าส่งออกและนำขาเข้าผ่านท่าเรือฯ เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 7% โดยเฉพาะตู้สินค้าส่งออก ซึ่งหมายถึงว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าอีกไม่เกิน 6-7 ปีข้างหน้า จำนวนตู้สินค้าที่ขนถ่ายผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จะพุ่งสูงถึง 11 ล้านทีอียู และหากเราไม่ดำเนินการสร้างท่าเรือใหม่เพื่อรองรับในห้วงเวลานี้ ประตูทางออกของสินค้าก็จะไม่เพียงพอกับความต้องการ”

ร.ต.ต.มนตรี ยังเผยถึงการดูแลชาวบ้านที่ทำมาหากินในทะเลว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ได้หามาตรการรองรับเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างท่าเรืออาจทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้าน เบื้องต้นจึงจำเป็นต้องย้ายชาวบ้านให้ออกมาอยู่ในที่ทำกินแห่งใหม่ ที่อยู่ในอาณาเขตของท่าเรือแหลมฉบัง และสนับสนุนมาตรการในการื้อถอน และเยียวยาตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านได้อยู่อย่างมีระเบียบ และเชิญกรมประมง และกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมกำหนดนโยบายในการเยียวยาต่างๆ รวมทั้งการขยายพันธุ์และพื้นที่ปฐมวัยสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อให้สัตว์ทะเลได้มีที่อยู่และขยายตัว  และเมื่อชาวบ้านมีสัตว์น้ำในทะเลมากขึ้น ก็จะสามารถจับขายสร้างงาน สร้างรายได้ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังจะจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านได้นำสินค้าต่างๆ มาขายในเนื้อที่ 55 ไร่ ทั้งในแง่ของการเปิดร้านอาหาร ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังจะให้การช่วยเหลือในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งหาลูกค้าเข้าพื้นที่ และยังจะเพิ่มช่องทางในการสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน รวมทั้งการจัดสร้างธนาคารปู ธนาคารปลาให้อีกด้วย 

ด้านนายรังสรรค์ ภู่ทอง ตัวแทนกลุ่มประมงแหลมฉบัง กล่าวว่า ขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังเริ่มทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือ ขั้น 3 เพิ่มมากขึ้น และหากท่าเรือฯ ดูแลชาวบ้านดี โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง ปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น และชาวบ้านเองก็ได้เสนอความต้องการต่างๆให้กับท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งคณะผู้บริหาร ไปเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้าน ก็ยังไม่ไว้วางใจท่าเรือฯ เพราะเรื่องที่เสนอไปนั้นยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม

“ขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ รอดูความเคลื่อนไหว ว่าจะไปในทิศทางไหน หากคัดค้านก็พร้อมจะร่วมคัดค้านด้วย แต่หากท่าเรือฯ พร้อมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ชาวบ้านก็พร้อมให้การสนับสนุน สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ ก็มีทั้งเรื่องการชดเชยการเลี้ยงหอยแมลงภู่ ที่จะต้องชดเชยให้ทั้งหมด รวมทั้งประมงเรือเล็กและประมงชายฝั่ง เพราะช่วงระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 2 ปี จะทำให้กลุ่มประมงไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้เหมือนปกติ ดังนั้นท่าเรือแหลมฉบัง ก็ควรจะต้องชดเชยให้กับกลุ่มนี้ด้วย ”นายรังสรรค์  กล่าว










paitoon Banner2 ท่าเรือLCB ไทยออยล์ ปตท. แปซิฟิค