นายกฯ เศรษฐา ย้ำ กทท.กำกับ การดำเนินโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เนื่องจากเป็นจุดที่น่าสนใจของนักลงทุน ขอให้ดำเนินการไปตามแผนงานที่วางไว้ หากส่วนไหนยังดำเนินการไม่เป็นตามแผนงานก็ขอให้เร่งรัดติดตามแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ หวังเกิดการสร้างงาน และส่งเสริมการค้าขาย เป็นประตูเข้า-ออกสำคัญที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก
ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้การต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระการคลังเดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายด้านการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง วันนี้ (4 พ.ย.) พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายศุภนิจ จัยวัฒน์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และนายสนธยา คุณปลื้ม ประธานที่ปรึกษาเมืองพัทยา ร่วมคณะตรวจราชการ โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ กทท. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารฯ ร่วมให้การต้อนรับ
นายเกรียงไกร เผยหลังจากให้การต้อนรับคณะนายกฯ ว่าเดินทางมาใครครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระการคลัง เพื่อมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายด้านการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังมีความสำคัญ เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนต่ำสำหรับการลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ในปัจจุบัน มีการลงทุนเฟส 1 และ เฟส 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 11 ล้านตู้
แต่อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับเศรษฐกิจการขยายตัว จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นอย่างมาก โดยมีการเร่งรัดติดตามการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นไปตามแผนงาน และเร่งรัดดำเนินการบริหารสัญญากับผู้ประกอบการ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลงานเสร็จตามแผนงาน
นอกจากนั้นนายกฯให้ความสำคัญด้านการขนส่งสินค้า หลากหลายรูปแบบ เช่น ในขณะนี้มีการขนส่งทางถนน และทางราง โดยจะทำอย่างไรที่จะสามารถเชื่อมถนนกับรางรถไฟ ได้ ซึ่งมีความสำคัญมาก ในการขนส่งตู้สินค้า เพราะจะเป็นการลดต้นทุนได้ มาก ซึ่งปัจจุบัน การท่าเรือ ได้มีการขนส่งสินค้าทางราง ได้จำนวน 410,000 ตู้ และในปีนี้จะประสานกับการรถไฟจะขยายกำลังการขนส่งสินค้า จากวันละ 24 เที่ยว เป็นวันละ 30 เที่ยว ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการการขนสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตู้ได้
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีโครงการเร่งรัด เพิ่มเครื่องจักร ชุดที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถอีก 1 เท่าตัว ซึ่งถือว่าเป็นความสำคัญในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า นอกจากนั้น เมื่อเชื่อมถนนรับรางรถไฟแล้ว และอีกเส้นทางคือการขนส่งทางน้ำ ซึ่งได้มีการลงทุนขยายท่าเรือชายฝั่ง ถือเป็นสิ่งสำคัญและต้องมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันไป นอกจากนี้ ปัญหาการจราจรติดขัดภายในก็ต้องแก้ไขด้วย เพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่งอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังให้ความสำคัญในการลงทุนการสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เนื่องจากประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการเติบโตและเป็นจุดที่น่าสนใจจากนักลงทุนได้ หากโครงการแล้วเสร็จ โดยขอให้กำกับดูแล และเร่งดำเนินการไปตามแผนงานที่วางไว้ หากส่วนไหนยังดำเนินการไม่เป็นตามแผนงานก็ขอให้เร่งรัดติดตามแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จตามแผนงานด้วย
สำหรับความคืบหน้างานรับเหมาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 นั้น ขณะนี้ พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 ส่งมอบพื้นที่ไปแล้ว เมื่อ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 2 ส่งมอบพื้นที่ไปเมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 พื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 คาดว่าส่งมอบมิถุนายน 2567 ทั้งนี้ กำหนดแล้วเสร็จ 29 มิถุนายน 2569 โดยสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (บริษัท จีพีซีฯ) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดส่งมอบ พื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัท จีพีซีฯ ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568
ท่าเรือแหลมฉบังในปัจจุบัน ดำเนินการพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 3 บนพื้นที่ 1,600 ไร่ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่หวังเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี รองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ติดตั้งระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 30% พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีน และประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมก้าวขึ้นเป็นท่าเรือระดับโลก ซึ่งหากการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะเกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับบริการท่าเรือ การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวทางทะเล เกิดการสร้างงาน และส่งเสริมการค้าขาย เพราะเป็นประตูเข้า-ออกสำคัญที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก