ชาวบ้านแหลมฉบัง-อ่าวอุดม กว่า 600 คน ร่วมรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน บ.ไทยออยล์ ครั้งที่ 1 พร้อมเสนอแนะให้วางมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าโรงที่ 3 ที่ใช้กากน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
วันนี้ (7ธ.ค.61) นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่ส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ณ ศาลาประชาคมอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีนายวิโรจน์ มีนะพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับกิจการองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีคอท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการให้การต้อนรับ โดยมีชุมชนในพื้นที่แหลมฉบัง-อ่าวอุดม และใกล้เคียงโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ กว่า 600 คน ร่วมประชุมในครั้งนี้
ด้านนายประทีป เลียงเพ็ชร ผู้จัดการรัฐกิจสัมพันธ์และการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มีโครงการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ซึ่งเป็นโรงฟ้าที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังนั้นบริษัทฯ จึงจัดให้มีการดำเนินการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังกล่าว
โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน จะใช้พื้นที่ประมาณ 37 ไร่ ในพื้นที่กลุ่มไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกังหันไอน้ำ โดยใช้กากน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้น้ำมันและก๊าซเป็นเชื้อเพลิงสำรอง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของกลุ่มไทยออยล์, เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ส่งผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในครั้งนี้ เพื่อให้คณะผู้ศึกษานำข้อมูลกลับมาประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในครั้งที่ 1 และจะมีอีกในครั้งที่ 2 จากนั้นจัดทำเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในระยะหนึ่ง กว่าจะสมบูรณ์ เพื่อนำรายงานส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณาตามลำดับขั้นตอนต่อไป
“หากโครงการได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานแล้ว บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 49 เดือน และเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณปี พ.ศ. 2566“ นายประทีป กล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ชุมชนและประชาชนเสนอไว้ในวันนี้นั้น ทางผู้บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่ปรึกษา ได้รับข้อมูลที่นำเสนอไว้ทั้งหมด เพื่อนำไปบรรจุไว้ในแผนงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านนายเสถียร เอกจรัสภิวัฒน์ ประธานชุมชนตลาดอ่าวอุดม กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทไทยออยล์ มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว 2 โรง และขณะนี้จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 1 โรง โดยจะมีปล่องระบายอากาศในพื้นที่โครงการฯ อีก 3 ปล่อง และจะมีมลสารทางอากาศที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และฝุ่นละออง ซึ่งปล่องควันที่เกิดขึ้นใหม่นั้นขอให้ทางบริษัทฯ กำจัดให้หมดก่อนจะปล่อยออกสู่นอกโรงงาน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและที่สำคัญจะต้องออกตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อสร้างความปลอดภัย
ส่วนนายวิศิษฐ์ พุทธตรัส ประธานชุมชนบ้านทุ่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าไทยออยล์ มี 2 โรง ซึ่งใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นั้นใช้กากน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งไม่ทราบว่ากากน้ำมันจะดีหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญมีปล่องควันเพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็มีมากอยู่แล้ว โดยขอให้บริษัทฯ ควรจะต้องดูแลมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่รอบโรงงกลั่น มีทั้งเด็กเล็ก, วัยรุ่น, คนสูงอายุที่แข็งแรง และไม่แข็งแรง ดังนั้นมาตรฐานของชาวบ้านในแต่ละคนจะนำไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ จึงขอฝากในเรื่องนี้เป็นสำคัญ