สวัสดีครับ...พบกับ www.ศรีราชาโพสต์.com โฉมใหม่!! "สร้างสรรค์ ดูแลกัน ทันเหตุการณ์" ***สวัสดีครับ...พบกับ www.ศรีราชาโพสต์.com โฉมใหม่!! "สร้างสรรคฺ์ ดูแลกัน ทันเหตุการณ์" ***ประชาสัมพันธ์ข่าวสารส่งมาได้ที่ kk.udomsuk@gmail.com

ทุนท้องถิ่นติงรัฐ..ให้สิทธิต่างชาติใน EEC เกินงาม อาจทำอนาคตธุรกิจไทยอยู่ยาก


นักธุรกิจใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี หวั่นการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติในโครงการ EEC มากจนเกินไป โดยเฉพาะการยกเว้นภาษี อาจทำทุนไทยตายเรียบ เหตุไม่สามารถแข่งขันได้ ชี้ทบทวนนโยบายหันให้ความสำคัญท้องถิ่นมากขึ้น 

นายกิตติศักดิ์ กิจโชคเจริญสกุล ประธาน กต.ตร.สภ.ศรีราชา ในฐานะนักธุรกิจและที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเผยถึงการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และระยอง ว่า แม้จะเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้กับคนไทยทั้งประเทศ ด้วยการผลักดันให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยหวังดึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ 

แต่สิ่งที่นักลงทุนในประเทศกำลังเป็นห่วงก็คือ การมอบสิทธิพิเศษทางการลงทุนที่มากจนเกินไปให้แก่นักลงทุนข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิด้านการยกเว้นภาษีการลงทุนที่มีมากตั้งแต่ 5 - 8 ปี จากการประกาศเขตส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออก, การให้สิทธิถือครองที่ดินที่มีระยะเวลาจาก 45 ปี เป็น 99 ปี รวมทั้งการลดธรรมาภิบาลและลดขั้นตอนเรื่องสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่รวบรัด เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งการเปิดเสรีทางการลงทุนอีกหลายด้านฯลฯ 

“จากการได้ร่วมวิจัยกับคณะวิจัยหลายๆ คณะเรื่อง อีอีซี ผมเองในฐานะที่เป็นคนท้องถิ่นรู้สึกว่าคณะผู้บริหาร อีอีซี ทำงานไปไกลแล้ว แต่ที่อดกังวลไม่ได้คือการไม่ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ในความเป็นจริง คนที่มีหน้าที่ในการบอกข่าวสารให้กับประชาชนในท้องถิ่นก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เปรียบเสมือนผู้แทนของชาวบ้าน ที่ในวันนี้ต้องบอกเลยว่าชาวบ้านระดับรากหญ้ารู้เรื่องเกี่ยวกับ อีอีซี น้อยมาก และที่ต้องเป็นห่วงอีกประการก็คือ โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสถานพยาบาล, โรงเรียน และสถานีตำรวจ ที่จะไม่เพียงพอรองรับจากทั้งนักลงทุนและ แรงงานที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น” 

ที่สำคัญการเข้ามาของทุนใหญ่ด้านการรักษาพยาบาลจากต่างชาติ ที่จะเข้ามาแชร์ตลาดธุรกิจสถานพยาบาลในไทย จากการเปิดเสรีทางการลงทุน และอีกหลายธุรกิจที่ทุนข้ามชาติจะเข้ามาบุกตลาด ย่อมทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจของ อ.ศรีราชา ที่ในวันนี้ตำรวจ  1 นาย ต้องดูแลประชาชนมากเกือบหมื่นคน 

นายกิตติศักดิ์ บอกว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจกังวลคือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนในท้องถิ่น รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ของไทยที่ไม่ได้รับสิทธิด้านภาษีเช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องสาธารณูปโภค ทั้ง น้ำ ไฟฟ้า ที่จะมีไม่เพียงพอจากการเกิดขึ้นของเมืองใหม่ รวมทั้งการถมที่ดินทับทางน้ำเพื่อให้เกิดโครงการที่อยู่อาศัย และโครงการอำนวยความสะดวกต่างๆ ผลที่ตามมาก็คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 

“แต่คณะทำงานของ EEC ก็บอกว่าในเรื่องน้ำนั้น  อนาคตจะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่อีก 3-4 แห่งใน จ.ระยอง และจันทบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอ แต่คนท้องถิ่นจะว่าอย่างไร เช่นเดียวกับราคาที่ดินใน จ.ชลบุรี ที่ขณะนี้มีผลกระทบกับคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ราคาที่ดินในเขตเทศบาลเมืองศรีราชา ขณะนี้ราคาต่อตารางวาขยับถึงเกือบ 1 ล้านบาท จนทำให้นักลงทุนศรีราชาไม่กล้าลงทุน แต่กลับเป็นนักลงทุนจากกรุงเทพฯ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เข้ามาลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ที่จนทำให้นักลงทุนท้องถิ่นแถบจะอยู่ไม่ได้” 

นายกิตติศักดิ์ ยังบอกอีกว่าโครงการ อีอีซี จะประสบความสำเร็จและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริง ก็ต่อเมื่อผู้ทำงานมีความโปร่งใส เพราะปัจจุบันเฉพาะเมืองศรีราชาจุดเดียวก็เปรียบเหมือนเค้กก้อนใหญ่ที่จะมีคนเข้ามาแชร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในจุดนี้รัฐบาลต้องวางแผนการรับมือให้ดี




paitoon Banner2 ท่าเรือLCB ไทยออยล์ ปตท. แปซิฟิค