วันนี้ (16 ก.ค.61) ดร.สมจิตต์ ปาละกาศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พร้อมด้วยนางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเซ็นบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเพื่อการพัฒนา หรือ MOU โดยมี รองศาสตราจารย์ธัญญะ เกียรติวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, นายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และคณาอาจารย์ ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมเธียเตอร์ ชั้น 4 อาคาร 14 หอสมุดอนุสรณ์ 10 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor (EEC) มีการผลักดันการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเป็นผลดีต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในหลายๆ ด้านนั้น ข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายจากการถูกปฏิเสธสินค้าส่งออก เนื่องจากการตรวจพบสิ่งปนเปื้อนที่ปลายทาง หลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกประเภทอาหารแช่แข็ง และผลไม้ได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลำเลียงสินค้าส่งคืนต้นทาง หรือค่าใช้จ่ายในการกำจัดสินค้า รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากระบบการวัดอุณหภูมิในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งที่คลาดเคลื่อน หรือการใช้เครื่องมือวัดที่ไม่ได้รับการสอบเทียบ (หรือใบรับรองหมดอายุ) ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ทั้งนี้เนื่องมาจากระบบการรับรองมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในประเทศไทย ซึ่งการสอบเทียบเครื่องมือวัดมาตรฐานของเครื่องมือวัด และมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนาน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเสียค่าใช้จ่ายกับต้นทุนที่ไม่จำเป็น ซึ่งเกิดจากความไม่แม่นยำของเครื่องมือวัด เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานขาดทักษะการดูแลบำรุงรักษาและสอบเทียบเครื่องมือวัด ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมากับอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว
ดร.สมจิตต์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงมีความเห็นตรงกันที่จะร่วมพัฒนาและจัดการหลักสูตรด้านมาตรวิทยาให้แก่นิสิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และเพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมาตรวิทยาให้กับภาคอุตสาหกรรม ยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC. ได้ และเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค
ด้าน ผศ.ดร ปัญญา แขน้ำแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า ในอนาคตทางมหาวิทยาลัยฯ จะมีศูนย์มาตรวิทยาเกิดขึ้น คาดในปี 2562 หรือ 2563 นี้ เพื่อตรวจสอบเครื่องมือต่างๆ ให้กับภาครัฐและเอกชน เช่น เครื่องมือวัดความยาว, เครื่องมือวัดการไฟฟ้า, เครื่องมือวัดอุณหภูมิความดัน โดยสามารถนำมาตรวจสอบเปรียบเทียบที่ศูนย์ดังกล่าวได้ เพื่อยืนยันว่าเครื่องมือดังกล่าวมีมาตรฐาน สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตและได้สินค้าที่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
สำหรับศูนย์มาตรวิทยานั้น หากเกิดขึ้นจริง ผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ EEC. จะประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะอยู่ใกล้พื้นที่, สามารถยกระดับการแข่งขัน และมาตรฐานของสินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นอย่างแน่นอน