สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แถลงข่าวจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กว่า 100 ล้านบาท
วันนี้ (6 ก.ค.60) นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมผู้อำนวยการสำนัก ต่างๆ ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท ณ บริเวณหน้าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ตามที่กรมศุลกากรได้มุ่งเน้นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้ นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรเข้มงวดเป็นพิเศษในการสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปราม โดยมอบหมายให้ นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง วางแผนร่วมกับ นายปิติณัช ศรีธรา ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร นางนิภาวรรณ ใยบัวเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการวางแผนจับกุม
นายกิตติ กล่าวว่า วันที่ 25 มิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบตู้สินค้านำเข้า สำแดงสินค้า 13 รายการ เป็นส่วนประกอบรถยนต์เก่าใช้แล้ว จากการตรวจสอบปรากฏว่ามีสินค้าไม่ตรงสำแดงบรรจุภายในตู้จำนวนกว่า 300 รายการ เป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เครื่องเสียงและลำโพงติดรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ กีตาร์ กระเป๋าแบรนด์เนม โมเดล เครื่องเล่นเกมส์ พร้อมตลับเกมส์ และอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าประกอบกับภาพเอกซเรย์ เห็นว่าไม่สอดคล้องกัน
โดยจากการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบ พบว่า มีสินค้าไม่ตรงตามสำแดงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้นำเข้ามีเจตนาสำแดงเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงอากร เป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16 และมาตรา 17 แห่งพรบ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ซึ่งสินค้าที่จับกุมได้ในครั้งนี้มีมูลค่า 2 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าภาษีอากรขาดประมาณ 1 ล้านบาท
สำหรับวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ทำการตรวจสอบสินค้าขาเข้า โดยสำแดงสินค้าหลายรายการตรวจสอบพบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ของไม่ตรงสำแดงและเกินสำแดงจำนวนมาก ได้แก่ บุหรี่ไฟฟ้า วิทยุสื่อสาร บุหรี่ กรองอากาศรถยนต์ ปลั้กพ่วง บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ประเภท กางเกงใน UNDERWARE นาฬิกา WATCH ชุดนอน PAJAMAS ส่วนประกอบของรถมอเตอร์ไซด์ FILTER ซึ่งเป็นความผิดฐานสำแดงชนิดเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย และความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ซึ่งสินค้าที่จับกุมได้ในครั้งนี้มีมูลค่า 5 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าภาษีอากรรวมค่าปรับอากรทุกประเภทจำนวน 6 ล้านบาท พร้อมยึดของกลางเป็นของแผ่นดิน
นายกิตติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในเดือนเมษายน 2560 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้ทำการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 9 ตู้ ซึ่งตัวแทนเรือได้ยื่นคำร้องขอนำตู้คอนเทนเนอร์ กลับมาปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งท่าปลายทางเดิมคือท่าเรือยูนิไทย จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดยจากผลการตรวจสอบพบ มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและมีสินค้าเกินจากสำแดงเป็นจำนวนมาก เช่น ของเล่นทำด้วยพลาสติก สินค้าเบ็ดเตล็ด ตุ๊กตาพลาสติก ตุ๊กตาผ้า กล่องแว่นตา หวีไฟฟ้า ไพ่ ตู้แอร์ น้ำมันหล่อลื่นคอมเพรสเซอร์ เทอร์โมสตัท น้ำยาแอร์ CFC 12 ในกรณีนี้เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด ตามกฎหมายศุลกากร พ.ศ. 2469 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ร.บ.วัตถุอันอันตราย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งสินค้าที่จับกุมได้ในครั้งนี้มีมูลค่า 4 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าภาษีอากรรวมค่าปรับอากรทุกประเภทจำนวน 6 ล้านบาท พร้อมยึดของกลางเป็นของแผ่นดิน
นายกิตติ กล่าวต่อไปว่า การจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า ในครั้งนี้ มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท และขณะนี้ทางกรมศุลกากร และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้วางมาตรการเข้มกับบริษัทนำเข้าและตัวแทนนำเข้าสินค้า โดยเน้นการสำแดงชนิดของสินค้าและราคาของสินค้า ที่สำคัญการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรต่างๆ